3/6/53

ประวัติจังหวัดชลบุรี

จังหวัดชลบุรี

จังหวัดชลบุรี
เรียกกันสั้น ๆ ว่า “เมืองชล” เป็นจังหวัดท่องเที่ยวชายทะเลตะวันออกที่มีชื่อเสียงมาช้านาน เป็นแหล่งเกษตรกรรมปลูกพืชเศรษฐกิจได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา รวมทั้งเป็นที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และแหล่งอุตสาหกรรมโรงงานที่สำคัญ
เมืองชลบุร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 80 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 4,363 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอหนองใหญ่ อำเภอพนัสนิคม อำเภอบ้านบึง อำเภอพานทอง อำเภอบ่อทอง อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ อำเภอเกาะสีชัง และกิ่งอำเภอเกาะจันทร์ สำหรับ พัทยา ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ และมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องมีการบริหารปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ เรียกว่า เมืองพัทยา โดยแยกออกจากการปกครองของอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
ประวัติและความเป็นมา
ชื่อเสียงของเมือง ชลบุรี ในฐานะเมือง ท่องเที่ยว ชายทะเล ทำให้หลายคนคงนึกไม่ถึงว่า ชลบุรี จะเป็นเมืองหนึ่ง ที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่ก่อนสมัย สุโขทัย และเคยมีชุมชน ของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อยู่ด้วย น่าเสียดาย ที่หลักฐาน ทางโบราณสถาน และ โบราณวัตถุ ในหลายๆ แห่ง สูญหายไป และคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน น้อยมาก

บริเวณที่ลุ่มริมฝั่งลำน้ำพานทอง ซึ่งไหลจากที่สูง ในเขต อ.พนัสนิคม ไปออก แม่น้ำบางปะกง เคยมีคนในยุคหินใหม่ อาศัยอยู่ โดยพบ หลักฐานสำคัญ ที่บริเวณโคกพนมดี ต.ท่าข้าม อ.พนัสนิคม คนกลุ่มนี้ ใช้ขวานหินขัด เครื่องประดับ พวก กำไลลูกปัด เครื่องปั้นดินเผา แบบเชือกทาบ และกินอาหาร จากทะเล เช่น หอยแครง ปู ปลา เป็นอาหารหลัก แสดงว่า สมัยนั้น พื้นที่นี้อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลกว่าปัจจุบันมาก

ที่ ต.หน้าพระธาตุ อ.พนัสนิคม เมื่อประมาณ 1,400-700 ปีก่อน มีเมืองพระรถ ตั้งอยู่ บริเวณนี้มีลำน้ำสายต่างๆ จากที่สูงมารวมกันเป็นลำน้ำพานทอง สามารถเดินทางตามลำน้ำไปติดต่อกับชุมชนอื่นๆ ในสมัยนั้น เช่น เมืองศรีมโหสถ ใน จ.ปราจีนบุรี และ ไปถึงอรัญประเทศได้ เมืองพระรถ จึงเป็นเมืองศูนย์กลางการคมนาคมในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางเดินบก ไป ระยอง และ จันทบุรี ผ่านเมืองพญาเร่ ซึ่งเป็นเมืองโบราณ อีกเมืองหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัด ชลบุรี ด้วย เมืองพระรถ อยู่ในสมัยทวารวดี ถึงสมัย ลพบุรี

ถ้ามาจากเมืองพระรถ ไปตามลำน้ำพานทอง จนออกทะเล ที่ปากแม่น้ำบางปะกง บริเวณนี้ มีชุมชนที่ต่อมา พัฒนาเป็นเมืองขึ้น เมื่อ 600 ปีก่อน ชื่อเมืองศรีพโล ในสมัยสุโขทัย เมืองศรีพโล เป็นเมืองท่าชายทะเล เรือสำเภาจากจีน เวียดนาม และ กัมพูชา เดินทางมาจอดพักสินค้า ก่อนเดินทางต่อไปยังปากแม่น้ำเจ้าพระยา และ จอดพักก่อนกลับ หรือ ข้ามอ่าวไทย ไปทางใต้ ปัจจุบัน กำแพงเมือง ศรีพโล ถูกทำลายไปหมด เนื่องจากการสร้าง ถ.สุขุมวิท

เมืองศรีพโล เป็นเมืองท่า มาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ก็หมดความสำคัญลง อาจเพราะอ่าวเมืองศรีพโล ที่เคยเป็นฝั่งทะเลลึกเกิดตื้นเขินขึ้น เนื่องจากตะกอนแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มาทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ ชุมชนจึงเคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ ที่ ต.บางปลาสร้อย ซึ่งมีสภาพชายทะเล และทำเล ที่จอดเรือดีกว่า บางปลาสร้อย นี้ก็คือ ที่ตั้งของเมืองชลบุรี ในปัจจุบันนั่นเอง

ในแผนที่ ไตรภูมิ สมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อตำบลสำคัญของ ชลบุรี เรียงจากเหนือลงใต้ คือ บางทราย บางปลาสร้อย บางพระเรือ (ปัจจุบันคือ บางพระ) และบางละมุง ส่วนในทำเนียบศักดินาหัวเมือง มีชื่อเมือง ชลบุรี ว่าเป็นเมืองชั้นจัตวา ที่วัดใหญ่อินทาราม ซึ่งอยู่ในตัวเมือง ชลบุรี มีภาพเขียนสมัย อยุธยา ตอนปลาย แสดงถึงชีวิต ความเป็นอยู่ของชาว อยุธยา ชาวต่างชาติ ทั้งฝรั่ง และ จีน ภาพปราสาทราชวัง ฝีมือเขียนภาพงดงามมาก และ เป็นบันทึกหลักฐานอย่างดี ของเมืองท่าแห่งนี้

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระอินทอาษา ชาวนครเวียงจันทน์ พาชาวลาว มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่ในที่ระหว่างเมืองชลบุรี กับ ฉะเชิงเทรา ต่อมา จึงตั้งขึ้น เป็นเมืองพนัสนิคม ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองพนัสนิคม และ เมืองบางละมุง ถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้นต่อ เมืองชลบุรี และเป็นอำเภอหนึ่งของ ชลบุรี มานับแต่นั้น

ชลบุรี มีความสำคัญในฐานะเมืองท่า นับเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี จากสมัยสุโขทัย มาถึงสมัย รัตนโกสินทร์ และกระทั่งปัจจุบัน ก่อนที่จะมามีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเมืองตากอากาศชายทะเล เช่นทุกวันนี้
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับ จ.ฉะเชิงเทรา
ทิศใต้ ติดต่อกับ จ.ระยอง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.ฉะเชิงเทรา จ.จันทบุรี และ จ.ระยอง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น